เด็ก

ล็อกดาวน์โควิดกระทบการเรียนรู้เด็กไทย

ล็อกดาวน์โควิดกระทบการเรียนรู้เด็กไทย

กสศ. เผยแพร่ผลสำรวจสถานะความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย หลังจากต้องเรียนออนไลน์แทนการไปโรงเรียนเป็นเวลาราว 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 พบทักษะขั้นพื้นฐานที่เด็กๆ สะสมไว้หายไป ลืมวิธีการอ่าน การเขียน จำตัวอักษร ไม่ได้
สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) หลังจากต้องเรียนออนไลน์แทนการไปโรงเรียนเป็นเวลาราว 2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อประเมินว่าเด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ จากการสำรวจดังกล่าวพบว่าทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ สะสมไว้หายไป เด็กๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กเริ่มเข้าเรียนแต่กลับไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะหรือการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เนื่องจากการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยที่ขาดหายไป

เด็ก

สอดคล้องกับข้อค้นพบของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่นอกจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่า 98% ของเด็กๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม และจากการทดสอบมีผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังค้นพบเรื่องต่างๆ ดังนี้

-14 สัญญาณเตือน “กล้ามเนื้อบกพร่อง” ในเด็กประถมต้น

– 8 รูปแบบการจับดินสอไม่ถูกวิธี

– แนวทางฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ภายใน 14 วัน

ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ อาจารณ์จาก‎คณะวิทยาศาสตร์‎ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การที่เด็กมีฐานกายไม่แข็งแรง เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันแก้ไข ถ้าเข้าใจและลงมือฟื้นฟูจริงจัง การเรียนรู้ของเด็กๆ จะค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นภายใน 14 วัน โดยมีตัวอย่างจาก 2 โรงเรียนพัฒนาตนเอง คือ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี และโรงเรียนผังปาล์ม 2 จังหวัดสตูล ที่ได้นำวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์กับกระบวนการเล่นการเรียนรู้ของเด็กในหลายรูปแบบ เช่น การให้เด็กๆสลับกันใส่ก้อนหินลงในแก้วให้ได้มากที่สุดโดยไม่ให้น้ำล้นออกจากแก้ว ฐานวิทยาศาสตร์นี้จะเป็นการฝึกให้เด็กๆรู้จักการใช้แรงและการผ่อนอรก เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งหลังจากฝึกอย่างจริงจังพบว่าเด็กส่วนมากมีค่าแรงบีบมือจาก 7.6 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 9.8 กิโลกรัม ทำให้เห็นแนวโน้มที่ดีในการฟื้นฟูเด็ก